วันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2562

ภาษาไทย…อารยะมรดกภูมิปัญญาของชาติ

ภาษาไทย…อารยะมรดกภูมิปัญญาของชาติ


            "เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก...” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
           วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทยที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ทรงตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยะภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น
           นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ ดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส
           ภาษาไทยที่เราใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ เป็นภาษาที่มีการจัดวางระเบียบแบบแผนไว้อย่างประณีตบรรจง มีศิลปะแห่งการผสมผสานเรียงร้อยถ้อยคำให้เป็นท่วงทำนองที่ไพเราะและเหมาะสมอย่างยิ่ง ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ สมควรจะได้รับการทำนุบำรุงส่งเสริมและอนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืนตลอดไป และเพื่อระลึกถึงภาษาไทยของเรา ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปี ประเทศไทยได้กำหนดให้เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ"
           การที่ "ภาษา” เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่า ภาษาเป็นสื่อเสียงและสื่อสัญลักษณ์ของมนุษยชาติที่เกิดจากการสร้างสรรค์ และสั่งสมของบรรพบุรุษสืบทอดมาสู่ลูกหลาน เพราะมนุษย์ต้องใช้ภาษาในการติดต่อ บอกความประสงค์ ความรู้สึกนึกคิด ถ่ายทอดประสบการณ์ และความรู้แก่กัน เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนในชาตินั้นๆ ติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันได้ และเป็นเหตุให้วัฒนธรรมในด้านอื่นๆ เจริญขึ้นด้วย หากไม่มี "ภาษา” มนุษย์ก็คงไม่สามารถสืบทอดวิชาการความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง และไม่อาจพัฒนาหรือรักษา "ความเป็นชาติ” ของตนไว้ได้ "ภาษา” จึงเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่ายิ่งของแต่ละชาติ และภาษาไทยก็เป็นภาษาที่ใช้เป็นสื่อในการแสดงความรู้ ความคิด ประสบการณ์ และวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวและมีเอกลักษณ์แตกต่างจากภาษาอื่นๆ 
           การที่คนไทยเราฟัง พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยเป็นประจำทุกวันจนเกิดความเคยชิน อาจจะทำให้หลายๆคนไม่รู้สึกว่า "ภาษาไทย” มีความสำคัญแค่ไหน และมีคุณค่าเพียงไร หากจะเปรียบก็คงเหมือนกับ
" อากาศ” ที่เราหายใจเข้าหายใจออกอยู่ตลอดเวลา จนเราแทบไม่รู้ค่าว่าหากขาดอากาศเมื่อไร เราก็ตายเมื่อนั้น ถึงแม้ว่า "ภาษาไทย ” จะไม่เหมือนอากาศที่ทำให้เราถึงกับตาย แต่ถ้าหากชาติไทยเราขาด "ภาษาไทย” เมื่อไร นั่นก็หมายความว่า "ความเป็นชาติ” ส่วนหนึ่งก็สูญสิ้นไปด้วย

           เนื่องจากคนไทยได้ละเลยต่อความสำคัญในการใช้ภาษาไทย และมีการใช้ภาษาที่ผิดเพี้ยนในการสื่อสาร มากขึ้นทุกที จนเป็นที่น่าวิตกว่า หากไม่รีบช่วยกันแก้ไข นานไปเอกลักษณ์และคุณค่าของภาษาไทยอาจสูญหายไปจนหมดสิ้น  เราควรช่วยกันรักษาวัฒนธรรมด้วยวิธีง่ายๆ โดยเริ่มจากการใช้คำเพียง ๓ คำนี้ เพื่อส่งเสริมให้คนไทยตระหนักถึงการใช้คำในภาษาไทยอย่างถูกต้อง
           กล่าวคำว่า  "สวัสดี” เมื่อแรกพบและจากกัน
           กล่าวคำว่า "ขอบคุณ” เมื่อได้รับความอนุเคราะห์จากผู้อื่น
           กล่าวคำว่า "ขอโทษ” เมื่อทำผิดพลาดหรือล่วงเกิน

           ควรหลีกเลี่ยงการพูดคำหยาบคาย ลามก อนาจาร  รู้จักใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนให้เหมาะแก่ชั้นของบุคคลที่จะพูดด้วย เช่น พระสงฆ์ เจ้านาย ผู้ใหญ่ที่นับถือ ผู้มีเกียรติ ฯลฯ  และเขียนหนังสือให้ถูกต้องตามพจนานุกรมของทางราชการ เพื่อให้การเขียนหนังสือภาษาไทย เป็นแบบแผนเดียวกัน เป็นต้น เพียงเท่านี้ก็เป็นการรณรงค์ให้คนไทยเราตระหนักถึงการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกหลักภาษาและถูกต้อง 
           และในวันภาษาไทยแห่งชาติ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖ นี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับ กรมศิลปากร จัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ณ โรงละครแห่งชาติ กรมศิลปากร ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖ เวลา ๐๘.๓๐ น. โดยมีการประกาศเชิดชูเกียรติและมอบรางวัลให้แก่ ผู้มีผลงานการสร้างสรรค์ด้านการใช้ภาษาไทย หรือภาษาไทยถิ่น มีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างให้แก่สังคมในแต่ละประเภท จำนวน ๒๓ คน ดังต่อไปนี้
           ๑. ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ได้แก่
           ๑.๑  ศาสตราจารย์ประภาศรี  สีหอำไพ
           ๑.๒  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์
           ๒.  ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ได้แก่
          ๒.๑   รองศาสตราจารย์จักรกฤษณ์  ดวงพัตรา
          ๒.๒   รองศาสตราจารย์จุไรรัตน์  ลักษณะศิริ
          ๒.๓   รองศาสตราจารย์ ดร.ชำนาญ  รอดเหตุภัย
          ๒.๔   นายบุญเสริม  แก้วพรหม
          ๒.๕   นางวันเพ็ญ  เซ็นตระกูล
          ๒.๖   นายวินิจ  รังผึ้ง
          ๒.๗   นายสมเจตนา  มุณีโมไนย
          ๒.๘   รองศาสตราจารย์ ดร.สุปาณี  พัดทอง
          ๒.๙   รองศาสตราจารย์สุพรรณ  ทองคล้อย
          ๒.๑๐ นายสุรินทร์  แปลงประสพโชค
           ๓.  ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ได้แก่
          ๓.๑  รองศาสตราจารย์ทรงศักดิ์  ปรางค์วัฒนากุล
          ๓.๒  นายบุญศรี  รัตนัง
          ๓.๓  นายประมวล  พิมพ์เสน
          ๓.๔  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฤดีมล  ปรีดีสนิท
          ๓.๕  รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์  ธรรมชาติ
          ๓.๖  นายอนันต์  สิกขาจารย์
           ๔.  ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ได้แก่
          ๔.๑  รองศาสตราจารย์กรรณิการ์  วิมลเกษม
          ๔.๒  นายบำเรอ  ผ่องอินทรกุล
          ๔.๓  นายพะนอม  แก้วกำเนิด
          ๔.๔  รองศาสตราจารย์ ดร.วิไลวรรณ  ขนิษฐานันท์
          ๔.๕  รองศาสตราจารย์ ดร.สุภาพรรณ  ณ บางช้าง (แม่ชีวิมุตติยา)
           นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการวันภาษาไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นมรดกภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชาติ ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

 ……………………………………………………………………………………
นางสาว นลินพร ศรีปานวงศ์
นักศึกษาฝึกงาน มหาวิทยาลัย นเรศวร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักนวัตกรรมทางวัฒนธรรม
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น